รายละเอียด

เกี่ยวกับบทความนี้

ทำไมการกินแบบ IF จึงอาจใช้เป็นทางเลือกได้ในผู้เป็นเบาหวานบางราย

ทำไมการกินแบบ IF จึงอาจใช้เป็นทางเลือกได้ในผู้เป็นเบาหวานบางราย

ทำไมการกินแบบ IF จึงอาจใช้เป็นทางเลือกได้ในผู้เป็นเบาหวานบางราย

พฤศจิกายน 2565

cover

เมื่อได้รับการวินิจฉัยแล้วว่าเป็นเบาหวาน เชื่อว่าแทบทุกคนคงหาวิธีในการดูแลตนเองโดยในบางรายที่เพิ่งเป็นมาไม่นาน อาจตั้งเป้าหมายเพื่อคุมเบาหวานให้อยู่ในระยะสงบ (diabetes remission) หรือในเบาหวานทั่วไปก็เพื่อไม่ให้อาการของโรครุนแรงขึ้น การดูแลเรื่องอาหารการกินเป็นหนึ่งในการจัดการตนเองที่สำคัญของผู้เป็นเบาหวาน ปัจจุบันการรับประทานอาหารรูปแบบที่เรียกว่า Intermittent Fasting (IF) กำลังเป็นที่นิยม และปัจจุบันเริ่มมีข้อมูลพบว่าการรับประทานรูปแบบนี้อาจใช้เป็นหนึ่งในทางเลือกในผู้เป็นเบาหวานได้ในบางราย ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น มาดูรายละเอียดกันค่ะ

โรคเบาหวานและอาการเบาหวานเป็นอย่างไร

โรคเบาหวาน คือ ภาวะที่ร่างกายมีระดับน้ำตาลในเลือดสูงกว่าปกติ เกิดขึ้นจากการที่ฮอร์โมนอินซูลินมีความผิดปกติ ไม่ว่าจะเป็นจากภาวะดื้ออินซูลิน ซึ่งเป็นภาวะที่เซลล์ในร่างกายไม่ตอบสนองต่ออินซูลิน ส่งผลให้ไม่สามารถนำน้ำตาลในเลือดกระจายไปสู่เซลล์ต่างๆ เพื่อใช้เป็นพลังงานได้ตามปกติ หรือจากภาวะขาดอินซูลิน โดยระยะแรกตับอ่อนจะผลิตอินซูลินได้ตามปกติ แต่ถ้าน้ำตาลในเลือดสูงตลอดเวลา เซลล์ในตับอ่อนจะไม่สามารถผลิตอินซูลินชดเชยเพื่อมาจัดการได้เพียงพอ ทำให้น้ำตาลยังคงอยู่ในกระแสเลือด หากเป็นเช่นนี้เรื่อยๆ ก็จะเกิดเป็นโรคเบาหวานในที่สุด

โรคเบาหวานแบบปกติที่เรารู้จักมักเกิดขึ้นแบบค่อยเป็นค่อยไปหรือไม่มีอาการในระยะแรก หากไม่ได้รับการตรวจระดับน้ำตาลในเลือดก็จะไม่รู้ตัวว่าเป็นเบาหวาน จนกระทั่งโรคดำเนินไปมากแล้วจึงจะมีอาการและทำให้รู้ตัว โดยอาการเบาหวาน1 ที่เป็นผลมาจากการมีระดับน้ำตาลในเลือดสูงมีตัวอย่าง ดังนี้

  • ปัสสาวะบ่อย โดยเฉพาะเวลากลางคืน
  • คอแห้ง ปากแห้ง กระหายน้ำบ่อย
  • หิวบ่อยขึ้น กินจุ แต่น้ำหนักลดลง
  • คันตามผิวหนัง ผิวแห้ง
  • อ่อนเพลีย
  • เกิดแผลและติดเชื้อได้ง่ายขึ้น
  • แผลหายช้า
  • รู้สึกชาบริเวณปลายมือและปลายเท้า
  • ตาพร่ามัว

หากมีอาการเหล่านี้ ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจระดับน้ำตาลในเลือดว่าสูงผิดปกติหรือไม่ หากผลออกมาว่าคุณเป็นโรคเบาหวาน แพทย์จะได้หาแนวทางการรักษาเพื่อควบคุมระดับน้ำตาลและไม่ให้การดำเนินโรครุนแรงมากขึ้นต่อไป

โรคเบาหวานระยะสงบ

ในผู้เป็นเบาหวานบางรายโดยเฉพาะในรายที่เพิ่งได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นมาไม่นานหรือมีระดับน้ำตาลยังไม่สูงมาก ถึงแม้เป็นเบาหวานแล้วจะรักษาไม่หาย แต่ก็อาจทำให้เบาหวานอยู่ในระยะสงบหรือที่เรียกว่า diabetes remission ได้ นั่นคือ ไม่มีอาการของโรคเบาหวานและมีระดับน้ำตาลในเลือดอยู่ในค่าปกติ โดยถ้าสามารถคงระดับน้ำตาลสะสม (HbA1C) ให้น้อยกว่า 6.5% ได้โดยไม่ใช้ยาลดน้ำตาลในเลือดเป็นเวลานานกว่า 3 เดือนขึ้นไป จะถือว่าเป็นโรคเบาหวานระยะสงบ2ซึ่งเมื่อเข้าสู่ภาวะนี้แล้วยังแนะนำให้มีการตรวจติดตามอย่างต่อเนื่องเช่นเดิม เพราะเมื่อเวลาผ่านไปโรคก็อาจกลับมาใหม่ได้เช่นกัน

การจะทำให้เบาหวานอยู่ในระยะสงบนั้น นอกจากการรับประทานยาลดระดับน้ำตาลในเลือด หรือการผ่าตัดเพื่อลดขนาดกระเพาะอาหารเพื่อช่วยให้ร่างกายตอบสนองต่ออินซูลินดีขึ้นแล้ว การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมชีวิต ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการรับประทานอาหาร การออกกำลังกาย และการลดน้ำหนักในคนอ้วนให้มีดรรชนีมวลกายปกติล้วนเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เบาหวานเข้าสู่ระยะสงบได้

แม้ว่าผู้เป็นเบาหวานจะเข้าสู่ระยะสงบที่เบาหวานไม่แสดงอาการแล้วก็ตาม แต่ยังมีความจำเป็นที่จะต้องดูแลสุขภาพ ควบคุมอาหารการกิน และออกกำลังกายอยู่เสมอ เพื่อควบคุมระดับน้ำตาลให้อยู่ในระดับปกติต่อไป ป้องกันอาการแทรกซ้อนจากโรคเบาหวาน และเพื่อไม่ให้อาการเบาหวานกลับมาอีก

การกินแบบ IF : หนึ่งในทางเลือกของผู้เป็นเบาหวานบางราย

สำหรับเรื่องการควบคุมอาหารการกินนั้น มีการรับประทานอาหารรูปแบบหนึ่งที่กำลังได้รับความนิยมและอาจพิจารณาใช้เป็นทางเลือกสำหรับผู้เป็นเบาหวานบางรายที่จะนำไปปรับใช้นั่นคือ การรับประทานอาหารแบบ IF

  • IF คืออะไร3

    IF หรือ Intermittent Fasting หมายถึง การงดอาหารเป็นช่วงๆ หรือการงดอาหารเป็นเวลา การรับประทานรูปแบบนี้กำลังเป็นที่นิยม เพราะเชื่อว่าทำให้น้ำหนักลดได้ และลดความเสี่ยงของการเจ็บป่วยจากโรคเรื้อรังต่างๆ รวมทั้งช่วยให้ลดระดับน้ำตาลในเลือดได้

    IF มีหลักการคือ ช่วงงดอาหารต้องยาวนานกว่าช่วงรับประทานอาหารเพื่อให้ร่างกายมีการหลั่งอินซูลินน้อยที่สุด โดยแบ่งเป็น 2 ประเภทใหญ่ๆ ที่นิยมใช้กันมาก ดังนี้

  • งดอาหารเป็นช่วงในแต่ละวัน โดยให้เวลารับประทานและงดรวมกันได้เท่ากับ 24 ซึ่งเป็นจำนวนชั่วโมงในหนึ่งวัน ยกตัวอย่าง เช่น 16:8 หมายถึง งดอาหาร 16 ชั่วโมง รับประทานอาหารได้ 8 ชั่วโมง โดยจะเริ่มรับประทานมื้อแรกตอนกี่โมงก็ได้ แต่มื้อสุดท้ายจะต้องรับประทานภายในเวลาไม่เกิน 8 ชั่วโมงจากเริ่มมื้อแรก เช่น รับประทานมื้อแรกเวลา 08.00 น. ต้องรับประทานมื้อสุดท้ายภายใน 16.00 น. สูตรนี้เป็นที่นิยมเพราะปฏิบัติได้ง่าย หรือสูตร 19:5 คือต้องงดการรับประทาน 19 ชั่วโมงและให้รับประทานได้ไม่เกิน 5 ชั่วโมง เป็นต้น
  • งดอาหารทั้งวันโดยวันที่รับประทานและงดรวมกันได้ 7 ซึ่งเท่ากับจำนวนวันในหนึ่งสัปดาห์ เช่น 5:2 ซึ่งหมายถึงรับประทานอาหารได้ 5 วัน และงดอาหาร 2 วัน เป็นต้น

ทำไมการกิน IF จึงอาจใช้เป็นทางเลือกได้ในผู้เป็นเบาหวานบางราย 3,4

เพราะโรคเบาหวานเกี่ยวข้องกับอินซูลิน และอินซูลินก็หลั่งออกมาจากการรับประทาน ในส่วนนี้จะขอกล่าวถึงการทำงานของร่างกายในการนำอาหารที่รับประทานไปใช้และการเก็บไว้เมื่อเหลือใช้ก่อน หลังรับประทานอาหาร ระดับน้ำตาลในเลือดของคนเราจะเพิ่มสูงขึ้นจากอาหารเหล่านั้น ตับอ่อนจะหลั่งอินซูลินเพิ่มขึ้น เพื่อนำน้ำตาลจากในเลือดเข้าสู่เซลล์ต่าง ๆ ของร่างกายเพื่อใช้เป็นแหล่งพลังงาน ส่วนน้ำตาลที่เหลือ ไม่ได้ใช้เป็นพลังงานจะถูกสะสมเป็นไกลโคเจน (Glycogen) ที่ตับและกล้ามเนื้อ และถ้าเรายังได้รับพลังงานจากอาหารมากเกินความต้องการ พลังงานนั้นจะถูกเปลี่ยนรูปเป็นไขมันสะสมตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย

แต่เมื่อมีการอดอาหารนานๆ ร่างกายเริ่มขาดพลังงาน ระดับน้ำตาลในเลือดและอินซูลินลดต่ำลง ฮอร์โมนกลูคากอน (Glucagon) จะหลั่งออกมาเพื่อทำหน้าที่สลายไกลโคเจนที่สะสมไว้ เปลี่ยนเป็นน้ำตาลกลูโคสเข้าสู่กระแสเลือด พร้อม ๆ กับกระตุ้นให้ร่างกายสร้างน้ำตาลขึ้นใหม่เอง เพื่อรักษาระดับน้ำตาลในเลือดไม่ให้ต่ำจนเกินไป และถ้ายังมีการอดอาหารอย่างต่อเนื่อง ร่างกายก็จะสลายไขมันที่สะสมไว้มาเป็นแหล่งพลังงานต่อไป เมื่อไขมันถูกนำมาใช้ น้ำหนักก็ลดลงได้ นั่นคือไขมันและน้ำตาลสะสมจะถูกนำไปใช้ในช่วงที่มีการอดอาหารนั่นเอง

ในผู้เป็นเบาหวานแบบทั่วไป โดยเฉพาะในรายที่อ้วนมักจะมีภาวะดื้ออินซูลิน อินซูลินจะถูกกระตุ้นให้หลั่งเมื่อได้รับอาหาร แต่เมื่อมีการงดอาหารจากการทำ IF อินซูลินก็ถูกกระตุ้นให้หลั่งลดลงส่งผลดีต่อภาวะดื้ออินซูลิน ร่างกายจะมีการตอบสนองหรือไวต่ออินซูลินมากขึ้น นอกจากนี้อินซูลินยังมีอีกหนึ่งหน้าที่สำคัญ คือ การยับยั้งการสลายไขมัน หากอินซูลินถูกหลั่งออกมามาก ร่างกายจะนำไขมันสะสมมาใช้ได้น้อย ซึ่งการทำ IF ช่วงการรับประทานอาหารที่น้อยลง เป็นการบังคับให้ร่างกายมีช่วงเวลาในการหลั่งอินซูลินน้อยลง ทำให้มีการนำไขมันที่สะสมไว้มาเผาผลาญเป็นพลังงานมากขึ้น ช่วยให้ผู้เป็นเบาหวานที่มักมีน้ำหนักเกินน้ำหนักลดลงได้ เพื่อให้เกิดผลลัพธ์ที่ดีมีคำแนะนำให้ผู้ทำ IF งดอาหารมากกว่า 12 ชั่วโมง ซึ่งเป็นระยะเวลาที่นานพอที่ร่างกายจะเข้าสู่ช่วงการเผาผลาญไขมันและน้ำตาลที่สะสมอยู่

การทำ IF ในผู้เป็นเบาหวาน 5

ก่อนที่ผู้เป็นเบาหวานจะตัดสินใจเริ่มทำ IF ควรระลึกเสมอว่านี่ไม่ใช่วิธีการรักษาหลัก หากแต่เป็นเพียงทางเลือกหนึ่งที่จะช่วยเสริมให้ผู้ป่วยสามารถควบคุมระดับน้ำตาลและน้ำหนักให้ดีขึ้น จึงต้องขอคำปรึกษาจากแพทย์ที่รักษาอยู่เสียก่อน เพื่อให้แพทย์ประเมินอาการว่าเหมาะสมที่จะทำ IF ได้หรือไม่ อีกทั้งควรทราบข้อมูลเกี่ยวกับการทำ IF ในผู้เป็นเบาหวาน รวมถึงการเลือกสูตรช่วงเวลารับและงดอาหารที่เหมาะสมกับตัวเอง โดยหลักการคือช่วงที่งดอาหารยาวนานกว่าช่วงที่รับประทาน ระหว่างที่ทำ IF ให้ดูแลตัวเองดังต่อไปนี้

  • ช่วงเวลาที่รับประทานอาหารนั้น ต้องจัดสรรอาหารให้ครบหมวดหมู่ เน้นโปรตีน เพื่อเสริมสร้างกล้ามเนื้อ ลดน้ำตาล คาร์โบไฮเดรต โดยรับประทานในปริมาณพออิ่ม และควรรับประทานเป็นมื้อ ไม่ใช่รับประทานตลอดช่วงเวลา
  • ดื่มน้ำให้มากตลอดวัน (เลือกเครื่องดื่มที่ไม่มีน้ำตาลและแคลอรี่ต่ำ)
  • หมั่นตรวจระดับระดับน้ำตาลในเลือด หากมีอาการเหงื่อแตก ใจสั่นและพบระดับน้ำตาลในเลือดต่ำน้อยกว่า 70 มก.ดล. ให้หยุดแผนงดอาหารทันที และจำเป็นต้องแก้ไขอาการเหล่านี้ด้วยการรับประทานอาหารที่มีคาร์โบไฮเดรต 15 กรัม ตัวอย่างเช่น ทอฟฟี่ 3 เม็ด น้ำส้มคั้น 180 มิลลิลิตร ขนมปัง 1 แผ่น กล้วย 1 ผล ฯลฯ และตรวจระดับน้ำตาลซ้ำภายใน 15 นาทีจนกว่าระดับน้ำตาลในเลือดจะกลับสู่ระดับปกติ
  • ไม่ควรออกกำลังกายอย่างหนักระหว่างทำ IF เพราะอาจทำให้น้ำตาลในเลือดลดลงเร็ว

ข้อควรระวังในการทำ IF ในผู้เป็นเบาหวาน6

ช่วงที่งดอาหารอาจทำให้ร่างกายได้รับพลังงานไม่เพียงพอ ทำให้เกิดอาการอ่อนเพลีย วิงเวียน ปวดหัว หน้ามืด อ่อนเพลีย หมดแรง มีอาการหิวได้

การงดอาหารนาน อาจมีผลทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดผู้เป็นเบาหวานต่ำได้ จึงควรมีการตรวจระดับน้ำตาลในเลือดในช่วงที่งดอาหารด้วย

เบาหวานมีหลายชนิด หากคุณเป็นเบาหวานชนิดที่ 2 ซึ่งเป็นแบบทั่วไปที่พบได้บ่อยและมีภาวะน้ำหนักเกิน คุณก็อาจพิจารณารับประทานแบบ IF เป็นทางเลือกในการปรับพฤติกรรมชีวิตได้ แต่ถ้าคุณเป็นเบาหวานชนิดอื่น เช่น เบาหวานชนิดที่ 1 ซึ่งต้องได้รับการรักษาด้วยอินซูลินหรือเบาหวานชนิดอื่น ซึ่งมีสาเหตุจำเพาะที่แตกต่างกันไป การรับประทานแบบ IF อาจไม่เหมาะกับคุณและไม่แนะนำให้ใช้วิธีนี้

ขอเน้นย้ำว่าผู้เป็นเบาหวานที่ต้องการรับประทานแบบ IF ควรปรึกษาแพทย์ที่ทำการรักษาอยู่ก่อนเสมอ เนื่องจากอาจจำเป็นต้องมีการปรับยาให้สอดคล้องกับการรับประทานอาหารมากขึ้น เพื่อป้องกันระดับน้ำตาลในเลือดต่ำเกินไปจนเป็นอันตรายในช่วงงดอาหาร ยาที่ต้องระมัดระวังคือยาเม็ดกลุ่ม Sulfonylurea, SGTL-2 inhibitors และยาฉีดอินซูลิน ผู้ที่ได้รับยาเหล่านี้จำเป็นต้องปรึกษาแพทย์ก่อนพิจารณารับประทานแบบ IF

อย่างไรก็ตาม หากทำ IF แล้วรู้สึกว่าเกิดปัญหาน้ำตาลในเลือดต่ำ การรับประทานรูปแบบนี้อาจไม่เหมาะสมกับคุณ ควรหยุดและหาวิธีอื่นๆ ในการลดการกระตุ้นอินซูลิน เช่น ลดน้ำตาล เน้นรับประทานคาร์โบไฮเดรตเชิงซ้อน ลดขนาดของมื้ออาหารลง เพิ่มกิจกรรมที่ได้เคลื่อนไหวร่างกายระหว่างมื้ออาหาร รับประทานอาหารให้ครบหมู่ เน้นโปรตีนให้มากขึ้น เป็นต้น หากทำสิ่งเหล่านี้ได้อย่างเคร่งครัด คุณก็มีโอกาสควบคุมเบาหวานได้เช่นกัน

ตรวจสอบข้อมูล โดย : นพ.เอกลักษณ์ วโนทยาโรจน์ อายุรแพทย์โรคต่อมไร้ท่อและเมแทบอลิซึม ศูนย์เบาหวานและไทรอยด์ โรงพยาบาลเทพธารินทร์

อ้างอิง

  1. Diabetes Symptom แหล่งที่มา https://www.cdc.gov/diabetes/basics/symptoms.html วันที่เข้าถึงข้อมูล เดือนกันยายน พ.ศ. 2565
  2. Muscle tissue changes with aging แหล่งที่มา: https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC2804956/ ) วันที่เข้าถึงข้อมูล เดือนกันยายน พ.ศ. 2565
  3. Evidence based of intermittent fasting for obese type 2 diabetes แหล่งที่มา https://cimjournal.com/cvm-conference/intermittent-fasting-obese-t2d/ วันที่เข้าถึงข้อมูล เดือนกันยายน พ.ศ. 2565
  4. How Insulin and Glucagon Work แหล่งที่มา https://www.healthline.com/health/diabetes/insulin-and-glucagon วันที่เข้าถึงข้อมูลเดือนกันยายน พ.ศ. 2565
  5. Intermittent fasting – is it for you? แหล่งที่มา https://www.diabetesaustralia.com.au/blog/intermittent-fasting/ วันที่เข้าถึงข้อมูลเดือนกันยายน พ.ศ. 2565
  6. Intermittent Fasting for Thai DM Friends แหล่งที่มา https://www.thaidietetics.org/wp-content/uploads/2020/07/Intermittent-Fasting-for-Thai-DM-Friends.pdf วันที่เข้าถึงข้อมูล เดือนกันยายน พ.ศ. 2565